อ. จุฬาฯ แจงเครื่องปั่นไฟหนุ่มเมืองกาญจน์ พลังงานได้ไม่คุ้มเสีย
อ.เจษฎา จากจุฬาฯ แจงเครื่องปั่นไฟหนุ่มเมืองกาญจน์ พลังงานได้ไม่คุ้มเสีย ผลิตได้เพียง 2 พันวัตต์ ไม่ถึง 20 กิโลวัตต์
หลังจากที่หนุ่มใหญ่ชาวจ.กาญจนบุรี คิดค้นเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ โดยใช้เครื่องปั๊มน้ำ ปั๊ม

ขึ้นไปปล่อยน้ำลงมาใส่เครื่องปั่นไฟอีกที แล้วปล่อยให้ทำงานวนไปเรื่อยๆ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 20 กิโลวัตต์ และนำไปใช้เกือบทั้งหมู่บ้าน ทั้งยังได้ไปยื่นเอกสารเพื่อจดสิทธิบัตรแล้ว ตามที่สื่อใหญ่หลายสำนักนำเสนอไปแล้วนั้น ทำให้มีการส่งต่อให้ทราบในวงกว้าง จึงได้มีผู้รู้จากโลกออนไลน์ เผยข้อสังเกตว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง
ล่าสุด ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิชาการวิทยาศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ข่าวที่มีคนประดิษฐ์เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ โดยใช้เครื่องปั๊มน้ำ ปั๊มขึ้นไปปล่อยน้ำลงระหัดมาใส่เครื่องปั่นไฟอีกที แล้วปล่อยให้ทำงานวนไปเรื่อยๆ โดยอ้างว่าผลิตไฟฟ้าได้ตั้ง 20 กิโลวัตต์
“เครื่องจักรพลังนิรันดร์ ไม่มีจริง ตามกฎอนุรักษ์พลังงาน อ่านแล้ว ดูคลิปแล้ว ผมว่าทะแม่งทะแม่งนะ ไอเดียเหมือนพวกจักรกลพลังนิรันดร์ ที่โพสต์หลอกกันในเน็ต … แต่ความที่ไม่เก่งฟิสิกส์-ไฟฟ้า เลยดูเพื่อนๆในหว้ากอ คุยกันได้ความว่า
1.ด้วยกฎการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานที่ใส่เข้าไป = พลังงานที่ได้ออกมา + พลังงานที่สูญไป (ในรูปความร้อน แรงเสียดทาน และอื่นๆ) ดังนั้น ไฟฟ้าที่ใช้ไปกับการปั๊มน้ำขึ้นไป ย่อมมากกว่า ไฟฟ้าที่ได้ออกมาจากเครื่องปั่นไฟ โดยสูญเสียพลังงานไปอีกด้วยกับความร้อนที่เกิดขึ้นเครื่องปั๊มน้ำ ระหัดวิดน้ำ ฯลฯ
2.ดังนั้น โดยทฤษฎีแล้ว วิธีสูบน้ำขึ้นไปปล่อยปั่นไฟเนี่ย ไม่คุ้มแน่ๆ ดูค่าไฟที่จ่ายไปก็ได้ ว่าเยอะกว่าหรือน้อยกว่าไฟฟ้าที่ได้ออกมา
3.ถ้าจะให้พอใช้ได้ ก็ต้องเอาไปรับน้ำจากน้ำตก ไม่ใช่การปั๊มน้ำขึ้นไปใส่อย่างนี้
4.ส่วนระบบโรงไฟฟ้าแบบสูบกลับ อย่างเขื่อนลำตะคอง อันนั้นเค้าใช้วิธีสูบน้ำขึ้นไปบนยอดเขาในเวลากลางคืนที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประชาชนต่ำกว่า โดยอาศัยไฟฟ้าที่ผลิตได้เกินกำลังความต้องการ มาสูบน้ำเก็บไว้ มาปล่อยน้ำลงผลิตไฟฟ้าเสริมในเวลากลางวัน
5.เมื่อดูสเปกของเครื่องปั่นไฟตามที่เห็นในรูปในคลิป ก็ไม่มีทางผลิตไฟฟ้าได้ถึง 20 กิโลวัตต์ (คนสร้างน่าจะคำนวณไฟฟ้าผิด) น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 พันวัตต์ เท่านั้น ขณะที่น่าจะใช้ไฟกันถึง 3 พันกว่าวัตต์ ….. ค่าตัวเลขพวกนี้ หวังว่าถ้ามีวิศวกรไฟฟ้าตัวจริงไปดูที่เครื่อง ก็คงคำนวณออกมาได้ครับ
สรุปว่า ก็ประทับใจในความพยายามนะครับ ที่ลงทุนประดิษฐ์สร้างมาได้ขนาดนี้ แต่คงต้องปรับปรุงอีกเยอะทั้งในเชิงทฤษฎีและการสร้างจริงครับ ไม่น่าคุ้มค่าในการลงทุนด้วยครับ”
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟสบุ๊ค Jessada Denduangboripant
0 comments:
แสดงความคิดเห็น